Saturday, June 15, 2013

คำวิเศษณ์

 คำวิเศษณ์  เป็นคำที่ใช้ขยายคำนาม  สรรพนาม   กริยา  หรือวิเศษณ์  เพื่อบอกเวลา  สถานที่  จำนวน  หรือลักษณะต่าง ๆ   คำวิเศษณ์จำแนกได้เป็น ๙  ชนิดดังนี้
http://www.naaruk.com/wp-content/uploads/2013/04/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B9%8C.jpg
            ๑. คำวิเศษณ์บอกลักษณะ (ลักษณวิเศษณ์)  ได้แก่คำขยายที่บอกชนิด  ขนาด  สัณฐาน  สี กลิ่น  รส  สัมผัส  อาการ  ความรู้สึก   เช่น  เล็ก  ใหญ่  กลม  รี  แบน  ขาว  แดง  เหม็น  หอม  หวานเปรี้ยว  อ่อน  แข็ง  เร็ว  ช้า  ค่อย  แหบ  ดัง   เป็นต้น     ตัวอย่างเช่น

                        คนดีย่อมมีความกตัญญูต่อพ่อแม่

                        ม้าวิ่งเร็ว

                        เขาพูดเพราะ

                        ลมพัดแรง

            ๒. คำวิเศษณ์บอกเวลา (กาลวิเศษณ์)  เป็นคำขยายบอกเวลา ที่เกิดขึ้นแล้ว  หรือปัจจุบัน  เช่น  ก่อน  หลัง  เดี๋ยวนี้  ภายหลัง  หรือขยายบอกเวลาว่า  เช้า  สาย  บ่าย  เย็น  ค่ำ    ตัวอย่าง

                        เขามาโรงเรียนสาย

                        เราจะไปเดี๋ยวนี้

                        ฉันจะไปพบเธอเวลาเย็น

                        บริษัทจะส่งหนังสือมาภายหลัง

            ๓. คำวิเศษณ์บอกสถานที่ (สถานวิเศษณ์)  เป็นคำขยายแสดงที่อยู่หรือระยะที่ตั้งอยู่  เช่น  เหนือ  ใต้  ไกล  ใกล้    เป็นต้น   ตัวอย่างเช่น

                        เขาอยู่ไกล

                        เด็กๆ จะไปบ้านนอก

                        หล่อนอยู่เหนือ

            ๔. คำวิเศษณ์บอกปริมาณหรือจำนวน (ประมาณวิเศษณ์)  เป็นคำประกอบบอกจำนวน หรือ จำนวนนับ  เช่น  มาก  น้อย  หนึ่ง  สอง  ที่ห้า  อันดับสิบ   เป็นต้น  ตัวอย่าง

                        เขากินข้าวหมด

                        คนงานกินจุ

                        นักเรียนจะมาพบห้าคน

                        คนทั้งหลายเดือดร้อนเพราะน้ำท่วม

            ๕. คำวิเศษณ์บอกความชี้เฉพาะ (นิยมวิเศษณ์)  เป็นคำขยายบอกความแน่นอน  เช่น  นี่  นี้  นั่น  นั้น  โน่น  โน้น  เป็นต้น  ตัวอย่าง

                        ชายคนนั้นเป็นชาวไทย

                        เขาสอบตกแน่นอน

                        หล่อนต้องมาหาเราแน่

                        ฉันเองเป็นคนทำ

            ๖. คำวิเศษณ์บอกความไม่ชี้เฉพาะ (อนิยมวิเศษณ์)  เป็นคำประกอบที่แสดงความไม่แน่นอน  เช่น  อื่น  อื่นๆ  ใด  ใดๆ  อะไร  อะไรๆ  เป็นต้น  ตัวอย่าง

                        เด็กอะไรซนอย่างนี้

                        วิชาอื่นๆ ก็สู้วิชานี้ไม่ได้

                        ถึงจะแพงสักเท่าไร ฉันก็จะซื้อ

            ๗. คำวิเศษณ์แสดงคำถาม (ปฤจฉาวิเศษณ์)  เป็นคำที่ใช้ถาม  เช่น  อะไร  ใคร  ไหน  ทำไม  แต่คำเหล่านี้จะตามหลังคำนาม  สรรพนาม หรือกริยา  ตัวอย่าง

                        คนไหนเป็นนักเรียนทุน

                        คนไข้มีอาการอย่างไร

                        เธออายุเท่าไหร่

            ๘. คำวิเศษณ์แสดงคำขานรับ (ประติชญาวิเศษณ์)  เป็นคำขานรับหรือคำประกอบใช้แสดงการขานรับ  เช่น  ค่ะ  ครับ  จ๊ะ  จ๋า  ฯลฯ    ตัวอย่าง

                        คุณครับ รถไฟจะออกแล้ว

                        คุณแม่ขา  โทรศัพท์ค่ะ

                        เธอจะไปไหนจ๊ะ

            ๙. คำวิเศษณ์แสดงความปฏิเสธ (ประติเษธวิเศษณ์)  เป็นคำบอกห้าม หรือบอกปฏิเสธ  เช่น  ไม่  หาไม่  เปล่า  อย่า  เป็นต้น   ตัวอย่าง

                        เงินทองไม่ใช่ของหาง่าย

                        นักเรียนไม่ควรนั่งหลับในห้องเรียน

                        เธออย่าเล่าเรื่องนี้ให้เขาฟังนะ

0 comments:

Post a Comment