Tuesday, April 30, 2013

คำสันธาน

 คำสันธาน คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมคำกับคำ เชื่อมประโยคกับประโยค เชื่อมข้อความกับข้อความ หรือข้อความให้สละสลวย

คำสันธานมี 4 ชนิด คือ
          1.เชื่อมใจความที่คล้อยตามกัน ได้แก่คำว่า กับ และ , ทั้ง…และ , ทั้ง…ก็ , ครั้น…ก็ , ครั้น…จึง , พอ…ก็   ตัวอย่างเช่น
พออ่านหนังสือเสร็จก็เข้านอน
พ่อและแม่ทำงานเพื่อลูก
ฉันชอบทั้งทะเลและน้ำตก
ครั้นได้เวลาเธอจึงไปขึ้นเครื่องบิน
          2.เชื่อมใจความที่ขัดแย้งกัน ได้แก่คำว่า แต่ , แต่ว่า , ถึง…ก็ , กว่า…ก็  ตัวอย่างเช่น
กว่าตำรวจจะมาคนร้ายก็หนีไปแล้ว
เขาอยากมีเงินแต่ไม่ทำงาน
ถึงเขาจะโกรธแต่ฉันก็ไม่กลัว
เธอไม่สวยแต่ว่านิสัยดี
          3.เชื่อมใจความเป็นเหตุเป็นผลกัน ได้แก่คำว่า จึง , เพราะ…จึง , เพราะฉะนั้น…จึง ตัวอย่างเช่น
เขาวิ่งเร็วจึงหกล้ม ฉันกลัวรถติดเพราะฉะนั้นฉันจึงออกจากบ้านแต่เช้า
เพราะเธอเรียนดีครูจึงรัก เขาไว้ใจเราให้ทำงานนี้เพราะฉะนั้นเราจะ
เหลวไหลไม่ได้
          4.เชื่อมใจความให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่คำว่า หรือ หรือไม่ก็ , ไม่เช่นนั้น , มิฉะนั้น ตัวอย่างเช่น
เธอต้องทำงานมิฉะนั้นเธอจะถูกไล่ออก
ไม่เธอก็ฉันต้องกวาดบ้าน
นักเรียนจะทำการบ้านหรือไม่ก็อ่านหนังสือ
คุณจะทานข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว
หน้าที่ของคำสันธาน
1.เชื่อมคำกับคำ เช่น
ฉันเลี้ยงแมวและสุนัข นิดกับหน่อยไปโรงเรียน
2.เชื่อมข้อความ เช่น
คนเราต้องการปัจจัย 4 ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องประกอบอาชีพเพื่อให้ได้เงินมาซื้อ
3.เชื่อมประโยคกับประโยค เช่น
พี่สาวสวยแต่น้องฉลาด เพราะเขาขยันจึงสอบได้
4.เชื่อมความให้สละสลวย เช่น
เขาก็เป็นคนดีคนหนึ่งเหมือนกัน คนเราก็มีเจ็บป่วยบ้างเป็นธรรมดา

0 comments:

Post a Comment