Tuesday, April 30, 2013

คำสรรพนาม

 คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนนามในประโยคสื่อสาร เราใช้คำสรรพนามเพื่อไม่ต้องกล่าวคำนามซ้ำๆ

ชนิดของคำสรรพนาม แบ่งเป็น 7 ประเภท ดังนี้
         1. สรรพนามที่ใช้ในการพูด (บุรุษสรรพนาม) เป็นสรรพนามที่ใช้ในการพูดจา สื่อสารกัน ระหว่างผู้ส่งสาร (ผู้พูด) ผู้รับสาร (ผู้ฟัง) และผู้ที่เรากล่าวถึง มี 3 ชนิด ดังนี้
1) สรรพนามบุรุษที่ 1 ใช้แทนผู้ส่งสาร (ผู้พูด) เช่น ฉัน ดิฉัน ผม ข้าพเจ้า เรา หนู เป็นต้น
2) สรรพนามบุรุษที่ 2 ใช้แทนผู้รับสาร (ผู้ที่พูดด้วย) เช่น ท่าน คุณ เธอ แก ใต้เท้า เป็นต้น
3) สรรพนามบุรุษที่ 3 ใช้แทนผู้ที่กล่าวถึง เช่น ท่าน เขา มัน เธอ แก เป็นต้น
          2. สรรพนามที่ใช้เชื่อมประโยค (ประพันธสรรพนาม)สรรพนามนี้ใช้แทนนามหรือสรรพนามที่อยู่ข้างหน้าและต้องการ
จะกล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังใช้เชื่อมประโยคสองประโยคเข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่น
บ้านที่ทาสีขาวเป็นบ้านของเธอ(ที่แทนบ้าน เชื่อมประโยคที่ 1บ้านทาสีขาว กับ ประโยคที่ 2 บ้านของเธอ)
          3. สรรพนามบอกความชี้ซ้ำ (วิภาคสรรพนาม) เป็นสรรพนามที่ใช้แทนนามที่อยู่ข้างหน้า เมื่อต้องการเอ่ยซ้ำ โดยที่ไม่ต้องเอ่ยนามนั้นซ้ำอีก และเพื่อแสดงความหมายแยกออกเป็นส่วนๆ ได้แก่คำว่า บ้าง ต่าง กัน ตัวอย่างเช่น
นักศึกษาต่างแสดงความคิดเห็น
สตรีกลุ่มนั้นทักทายกัน
นักกีฬาตัวน้อยบ้างก็วิ่งบ้างก็กระโดดด้วยความสนุกสนาน
          4. สรรพนามชี้เฉพาะ (นิยมสรรพนาม) เป็นสรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่กล่าวถึงที่อยู่ เพื่อระบุให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ได้แก่คำว่า นี่ นั่น โน่น โน้น ตัวอย่างเช่น
นี่เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์ในปีนี้
นั่นรถจักรายานยนต์ของเธอ
          5. สรรพนามบอกความไม่เจาะจง (อนิยมสรรพนาม) คือ สรรพนามที่ใช้แทนนามที่กล่าวถึงโดยไม่ต้องการคำตอบ
ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง ได้แก่คำว่า ใคร อะไร ที่ไหน ผู้ใด สิ่งใด ใครๆ อะไรๆๆ ใดๆ ตัวอย่างเช่น
ใครๆก็พูดเช่นนั้น
ใครก็ได้ช่วยชงกาแฟให้หน่อย
ใดๆในโลกล้วนอนิจจัง
ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้
          6. สรรพนามที่เป็นคำถาม (ปฤจฉาสรรพนาม) คือ สรรพนามที่ใช้แทนนามเป็นการถามที่ต้องการคำตอบ ได้แก่คำว่า ใคร อะไร ไหน ผู้ใด ตัวอย่างเช่น
ใครหยิบหนังสือบนโต๊ะไป
อะไรวางอยู่บนเก้าอี้
ไหนปากกาของฉัน
ผู้ใดเป็นคนรับโทรศัพท์
          7. สรรพนามที่เน้นตามความรู้สึกของผู้พูด สรรพนามชนิดนี้ใช้หลักคำนามเพื่อบอกความรู้สึกของผู้พูดที่มีต่อบุคคล
ที่กล่าวถึง ตัวอย่างเช่น
คุณพ่อท่านเป็นคนอารมณ์ดี (บอกความรู้สึกยกย่อง)
คุณจิตติมาเธอเป็นคนอย่างงี้แหละ (บอกความรู้สึกธรรมดา)
หน้าที่ของคำสรรพนาม
1. ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค เช่น ใครมา แกมาจากไหน นั่นของฉันนะ เป็นต้น
2. ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค เช่น เธอดูนี่สิ สวยไหม เป็นต้น
3. ทำหน้าที่เป็นส่วนเติมเต็ม เช่น เสื้อของฉันคือนี่ สีฟ้าใสเห็นไหม เป็นต้น
4. ทำหน้าที่ตามหลังบุพบท เช่น เธอเรียนที่ไหน เป็นต้น

0 comments:

Post a Comment